มาทำความรู้จักฝ้า (Melasma)



ฝ้า (Melasma) 
      ปัญหากวนใจของใครหลายคน วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับฝ้ากันค่ะ
  ฝ้าเป็นยังไง? 
ฝ้าเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อยมากในบ้านเรา คนส่วนใหญ่มักจะสับสนระหว่างฝ้ากับกระที่ผิวหนัง ซึ่งจะเป็นคนละภาวะกันค่ะ ฝ้าจะพบเป็นปื้นสีน้ำตาลหรือเทา มักเป็นทั้งสองข้างของใบหน้าและเกิดบริเวณที่ถูกแสงแดด ส่วนใหญ่พบที่โหนกแก้ม หน้าผาก คาง จมูก เหนือริมฝีปากบน โดยมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ และพบได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน
  เกิดจากอะไร?
      เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ แสงแดด พันธุกรรม ฮอร์โมน และยาบางชนิด จะเห็นได้ว่าฝ้าสามารถถูกกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ก็มีปัจจัยบางส่วนที่เราสามารถหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดฝ้าได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงแสงแดด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนที่ไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงครีมทาผิวที่ก่อการระคายเคือง เกิดผื่นแพ้ ที่อาจส่งผลทำให้สีผิวผิดปกติตามมา
  รักษาได้มั้ย?
 ในปัจจุบันมีการรักษาฝ้าหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่มีการรักษาใดที่ยืนยันได้ว่ารักษาฝ้าได้หายขาด การรักษาสามารถทำให้รอยด่างดำจากฝ้าดีขึ้น แต่คนที่เป็นก็ยังต้องดูแลหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นฝ้าอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
- ยาทา เป็นยากลุ่มที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสี(Melanin) เช่น Azelaic acid, Arbitin, Licorice หรือช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นบนออก เช่น Retinoic acid, Glycolic acid ซึ่งมีทั้งสูตรยาทาเดี่ยวและสูตรยาทาผสม
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดผลไม้ เช่น Glycolic acid, Salicylic acid เป็นต้น
- การทำทรีตเมนต์ เป็นการใช้เครื่องมือผลักยาและสารบำรุงผิวเข้าสู่ผิว เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- เลเซอร์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาฝ้า แต่ควรใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
  จะป้องกันการเกิดฝ้าและกลับเป็นซ้ำของฝ้าได้อย่างไร?
- การป้องกันแสงแดด เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดทั้งในช่วงก่อนเกิด ระหว่างรักษา และหลังรักษาฝ้า การป้องกันแดดทำได้หลายวิธี เช่น ทาครีมกันแดด กางร่ม สวมหมวก สวมแว่นตาดำ เป็นต้น 
- หยุดใช้ยาคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนยาคุมกำเนิดในกรณีผู้ที่มีฝ้าภายหลังการทานยาคุมกำเนิด 
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา สารเคมี หรือครีม ที่มีฤทธิ์กัดผิวหรือระคายผิว ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและฝ้าตามมาได้


“ฝ้าแม้จะรักษายาก แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ค่ะ”


เนื้อหา พญ.ปภัสรา อัศวภาคย์, พญ.สาลินี โรจน์หิรัญสกุล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Androgenetic Alopecia (AGA) - ภาวะผมบางจากพันธุกรรม

สาระน่ารู้ : เล็บของคุณเป็นอย่างไร

เชื้อไวรัส COVID19 นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศ/สิ่งของรอบตัวเราได้นานแค่ไหน