Acne scars (รอยแผลเป็นจากสิว)




Acne scars (รอยแผลเป็นจากสิว)
เกิดตามหลังจากการอักเสบที่ชั้นหนังแท้ของสิว และร่างกายได้สร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนที่น้อยหรือมากผิดปกติ ทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งมีทั้งแบบ รอยแผลเป็นหลุม (atrophic scars) และรอยแผลเป็นนูน (hypertrophic scars) โดยแผลเป็นจากสิวมักเป็นแผลเป็นหลุมมากกว่าแผลเป็นนูนในอัตราส่วน3:1
รอยแผลเป็นหลุม(atrophic scars) แบ่งได้อีก 3 กลุ่มย่อยตามลักษณะ คือ
-หลุมสิวแบบคลื่น (rolling scar) พบได้ 15%-25% ลักษณะมีความโค้ง ตื้น มีขนาดกว้างมากกว่า 4-5 mm 
-หลุมสิวแบบกล่อง (boxcar scar) พบได้ 20%-30% รอยหลุมมีลักษณะเหลี่ยม หรือออกกลมรีได้ ปากขอบและฐานขนาดใกล้เคียงกัน ขอบเขตชัด ขนาดประมาณ 3-4 mm
-หลุมสิวแบบจิก (icepick scar) พบได้มากที่สุด 60-70% ขนาดแคบ น้อยกว่า 2 mm ลึก ขอบชัด ก้นของหลุมจะแหลม ลักษณะคล้ายตัว V โดยหลุมสิวชนิดนี้จะตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยที่สุด
ในบางครั้งอาจแยกลักษณะหลุมสิวชนิดต่างๆออกจากกันได้ยาก และอาจพบหลุมสิวได้ทั้ง 3 กลุ่มในคนไข้คนเดียวกัน
การรักษามีได้หลายวิธี 
1.การรักษาที่กระตุ้นให้การสร้างผิวใหม่ ได้แก่ 
1.1 Laser : เหมาะกับหลุมสิวชนิด boxcar และrolling scars ที่นิยมใช้ ได้แก่ laser กลุ่มกรอผิว (เลเซอร์ที่กรอผิวที่ผิดปกติออก) เช่น Carbon dioxide laser และ Erbium YAG laser แต่มักใช้เวลาในการพักฟื้นนาน และมีผลข้างเคียงเยอะ, ปัจจุบันนิยมใช้ Fractional laser (เลเซอร์ที่ทำลายเนื้อเยื่อทีละส่วน) ให้เกิดแผลจุดเล็กๆจำนวนมาก โดยไม่ทำลายเนื้อดีรอบๆ กระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมผิวหนังได้ดีกว่า พัฒนาขึ้นเพื่อลดข้างเคียงจากกลุ่มเลเซอร์กลุ่มแรก
1.2 Fractional radiofrequency คือการใช้คลื่นความถี่วิทยุส่งพลังงานความร้อนจุดเล็กๆที่ชั้นผิว เพื่อกระตุ้นให้หลุมสิวตื้นลง
1.3 TCA CROSS (Chemical Reconstruction of Skin Scar method) ใช้กรดTCA ความเข้มข้น 50-90% แต้มเฉพาะจุด เหมาะกับหลุมสิวกลุ่ม Icepick-scar 
2. Subcision คือการใช้ใบมีดขนาดเล็กตัดเลาะใต้พังผืดที่เป็นหลุมสิว เหมาะกับหลุมสิวประเภท rolling และ boxcar scar
3. การฉีด Filler โดยการฉีดสารเติมเต็มที่หลุมสิว เห็นผลการรักษาได้เร็ว แต่ผลไม่ถาวร ตามการสลายของfiller 
4. การผ่าตัด สำหรับหลุมสิวที่มีความรุนแรงมาก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ อย่างไรก็ตามการรักษานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดแผลเป็นนูนได้ 
ในการรักษาหลุมสิว อาจจำเป็นต้องใช้หลากหลายวิธีร่วมกัน และใช้จำนวนการรักษาหลายครั้ง ขึ้นกับชนิดของหลุมสิว และการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันของคนไข้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดสิว และการรักษาสิวอย่างถูกวิธี

เนื้อหา พญ.น้ำเพชร เจริญพงพันธุ์, อ.พญ.ศิลดา กนกรังษี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Androgenetic Alopecia (AGA) - ภาวะผมบางจากพันธุกรรม

สาระน่ารู้ : เล็บของคุณเป็นอย่างไร

เชื้อไวรัส COVID19 นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศ/สิ่งของรอบตัวเราได้นานแค่ไหน